Enceladus ดวงจันทร์ของดาวเสาร์ ที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตในระบบสุริยะ
เรียบเรียงโดย เชิดพงศ์ วิสารทานนท์
เพราะเหตุใด Enceladus จึงถูกจัดให้เป็นสถานที่นอกโลกที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตในระบบสุริยะ
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักประวัติของดวงจันทร์ Enceladus นี้กันก่อน ชื่อของดวงจันทร์ดวงนี้ ตั้งตามชื่อยักษ์ ในเทพปกรณัมกรีก ชื่อว่า เอนเซลาดัส (Enceladus ) โดยกำหนดให้ ชื่อดวงจันทร์ของดาวเสาร์ เกี่ยวข้องกับเทพไททัน เนื่องจาก ชื่อของดาวเสาร์ (แซทเทิร์น) ในตำนานกรีกเปรียบได้กับ เทพโครเนิส ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดของฝ่ายไททัน
เอนเซลาดัส (อังกฤษ: Enceladus) หรือ Saturn II เป็นดาวบริวารขนาดใหญ่อันดับที่ 6 ของดาวเสาร์ ค้นพบโดยนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ เชื้อสายเยอรมัน นาม วิลเลียม เฮอร์เชล เมื่อ ค.ศ. 1789 (พ.ศ. 2332) นักดาราศาสตร์คาดว่า ดวงจันทร์ดวงนี้ อาจมีน้ำ ในสถานะของเหลวใต้แผ่นน้ำแข็ง ที่ปกคลุมผิวดาว บริเวณขั้วใต้ของดาว ยังปรากฏภูเขาไฟน้ำแข็ง (cryovolcano) พ่นอนุภาคน้ำแข็ง ขนาดเล็กขึ้นสู่ท้องฟ้า ซึ่งอนุภาคบางส่วน ตกกลับสู่พื้นผิวดวงจันทร์ ในรูปของหิมะ บางส่วนกระจายสู่อวกาศ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวงแหวน ของดาวเสาร์ แม้กระทั่งบางส่วน ได้กระจายไปถึง ดาวเสาร์ เนื่องจากดวงจันทร์ เอนเซลาดัส มีหลักฐานการปรากฏอยู่ของน้ำ ดาวดวงนี้จึงเป็นสถานที่น่าสนใจมากที่สุดแห่งหนึ่ง ในการค้นหารูปแบบของสิ่งมีชีวิตนอกโลก เช่นเดียวกับ ยูโรปา ดาวบริวารของดาวพฤหัสบดี ซึ่งนักดาราศาสตร์คาดว่าน้ำในดาวดวงนี้ ถูกปิดกั้น ภายใต้ชั้นน้ำแข็งที่หนามาก เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2011 ทีมนักวิทยาศาสตร์จากนาซา ได้จัดการประชุม Enceladus Focus Group Conference และประกาศว่าดวงจันทร์ เอนเซลาดัส เป็น “สถานที่นอกโลก ที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตมากที่สุด ในระบบสุริยะเท่าที่รู้จักมา “
เอนเซลาดัส หน้าตาเป็นอย่างไร แล้วจะมีสิ่งมีชีวิตหรือไม่นั้น
เรามาทำความรู้จักกับ เอนเซลาดัส (Enceladus ) ไปพร้อม ๆ กันเลย !!!
เอนเซลาดัส เป็นดวงจันทร์ ที่ปกคลุมไปด้วยผิวน้ำแข็ง และจากการเก็บข้อมูลมาเกือบทศวรรษ ของยานอวกาศ แคซซินี่ ได้มีการค้นพบว่า ถัดจากผิวน้ำแข็ง คือ มหาสมุทร ซึ่งอยู่ลึกลงไป อยู่ที่ประมาณ 5-35 กิโลเมตร จากส่วนผิวน้ำแข็ง ส่วนที่หนาที่สุด อยู่บริวเวณเส้นศูนย์สูตร ส่วนที่บางที่สุดอยู่ที่บริเวณขั้วใต้ ของดวงจันทร์ ลึกลงไปกว่ามหาสมุทรนั้น นักดาราศาสตร์คาดว่า น่าจะเป็นก้อนหิน โดยดาวดวงนี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 505 กิโลเมตรเท่านั้น โดยมีชั้นความหนาของผิวน้ำแข็ง เฉลี่ยประมาณ 18 -22 กิโลเมตร และมีแกนของดาวเป็นก้อนหินขนาดประมาณ 360 – 370 กิโลเมตร
เมื่อนึกถึงสิ่งมีชีวิตนอกโลก ท่านคิดว่า สิ่งมีชีวิตนอกโลกต้องการอากาศ หรือ น้ำ เพื่อดำรงชีวิต หลาย ๆ ท่านอาจจะนึกถึงอากาศ แต่ความเป็นจริงแล้ว สิ่งมีชีวิตบนโลก ต้องการน้ำเพื่อใช้ในปฏิกริยาทางชีวเคมี ดังนั้น มนุษย์เราจึงมุ่งสำรวจหาน้ำ บนดาวดวงอื่น เพื่อหวังจะพบสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นอกโลก
มีน้ำแล้วมีสารอะไรอีกบ้างเพื่อก่อกำเนิดชีวิตล่ะ ??
บนโลกเรา มีสสารทั้งหมด 29 ชนิด ที่มีบทบาทสำคัญ สำหรับสิ่งมีชีวิตบนโลก แต่กว่า 95% ของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ประกอบไปด้วยสสารทั้งหมด 6 ชนิด ด้วยกัน คือ คาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน ออกซิเจน ฟอสฟอรัส และซัลเฟอร์ ซึ่งใกล้ ความเป็นจริง เข้ามาแล้ว เมื่อมีการค้นพบว่า ดวงจันทร์ของดาวเสาร์ ที่มีชื่อว่า เอนเซลาดัส ได้พ่นน้ำขึ้นสู่ชั้นอวกาศ หลังจากยานอวกาศ แคซซินี่ ได้บินผ่านละอองน้ำที่ พุ่งพวยออกมาจากเอนเซลาดัสนับร้อยกิโลเมตร และยังพบว่ามีสสารประกอบอยู่หลายชนิด ที่น่าจะเป็นองค์ประกอบสำคัญ สำหรับสิ่งมีชีวิตเกือบทั้งหมด เว้นเพียงแต่ ฟอสฟอรัสและซัลเฟอร์ เท่านั้น