ไขรหัสลับจากภาพดาว

M31StarAdventurerPro-1

ไขรหัสลับจากภาพดาว

หลาย ๆท่านที่มีความหลงไหลในความงามของภาพดวงดาวที่ถ่ายมาจากทั้งกล้อง DSLR Mirrorless ทั่วไป และหรือถ่ายจากกล้องดูดาว หนึ่งในความรู้สึกลึกๆ คือท่านคงอยากถ่ายภาพให้ได้อย่างนี้บ้างหละสิครับ
แน่นอน กว่าจะถ่ายภาพต้องมีการลงทุนกับอุปกรณ์ต่าง ๆ มากมายอันจะทำให้การลองผิดลองถูกของเรานั้นเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่วิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้ท่านมีภาพในใจว่าท่านอยากจะถ่ายภาพดาว ภาพแกแลกซี่หรือเนบิวล่านั้นที่ประหยัดที่สุด
คือการดูผลงานของชาวบ้านที่เค้าถ่ายๆ กันมาว่า หน้าตาสวยงามถูกใจหรือไม่อย่างไร ซึ่งในแต่ละภาพที่น่าเชื่อถือจะมีรายละเอียดของการถ่ายภาพนั้น ๆ ไว้ ไม่ว่าจะอยู่บนภาพ หรือเป็นคำบรรยายในหน้าเวปที่ท่านดูอยู่

รายละเอียดคำบรรยายภาพส่วนใหญ่จะ มีด้วยกันอยู่ 5 ส่วน คือ
1. ส่วนที่เป็นเรื่องของ กาละเทสะ (เวลาและสถานที่) รวมถึงชื่อผู้ถ่าย
2. อุปกรณ์ที่ใช้ในการถ่าย
3. เทคนิคในการถ่ายภาพ
4. รายละเอียดโปรแกรมที่ใช้ในการแต่งภาพ
5. พรรณนารายละเอียดในแต่ละองค์ประกอบของภาพ

รายละเอียดต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เห็นสภาพของลักษณะวัตถุที่จะถ่าย ลักษณะบรรยากาศ ซึ่งบอกไปถึงความยากง่ายของการถ่ายภาพได้เลยทีเดียว

หมวดหมู่ของภาพหลักๆ ที่แบ่งได้จากภาพถ่่ายท้องฟ้า มีอยู่ด้วยกัน 3 อย่าง เริ่มจากง่ายไปหายาก (งบประมาณน้อย ไปงบประมาณมาก)
1. ภาพทางช้างเผือกที่ถ่ายคู่กับสถานที่ วิวทิวทัศน์ และแอคติ้ง เก๋ ๆ หรือแกแลกซี่ที่ถ่ายมาเห็นขนาดเล็ก
2. ภาพดวงจันทร์และดาวเคราะห์ เช่น ดาวพฤหัส ดาวเสาร์ ซึ่งสามารถใช้กล้องดูดาวซึ่งมีขาตั้งกล้องที่พอตามดาวได้ระดับนึงไม่ต้องการความแม่นยำสูงมากนักมาช่วยตามดาวเพื่อถ่ายภาพที่ได้จากกล้องดูดาวที่มีทางยาวโฟกัสสูง
3. ภาพวัตถุท้องฟ้า เช่น แกแลกซี เนบิวล่า ดาวหาง ซึ่งจะต้องใช้ขาตั้งกล้องดูดาวที่มีความแม่นยำที่สูงยิ่งขึ้นเพื่อติดตามดาวได้นานๆ ให้อยู่นิ่งไม่ขยับไปไหน เพื่อจะได้เปิดหน้ากล้องได้นานๆ ภาพวัตถุท้องฟ้าที่มีความสว่าง น้อยๆ จะได้สว่างขึ้นมามากพอที่จะทำการบันทึกภาพได้

หมวดภาพทางช้างเผือกและภาพแกแลกซี่ขนาดเล็ก

M31StarAdventurerPro

ภาพโดย Francois Charron
M31 Andromeda galaxy
Nikon D850 + Nikon 70-200 2.8E FL
Star Adventurer pro
10 x 45 secs ISO 3200
Bortle class 3 skies

จากข้อความรายละเอียดนี้
“M31 Andromeda galaxy”
ภาพนี้คือภาพของ แกแลกซี่ M31 หรือที่เรารู้จักกันในนามของแกแลกซี่แอนโดรเมดา

“Nikon D850 + Nikon 70-200 2.8E FL”
ภาพนี้ถ่ายด้วยกล้อง Nikon D850 โดยใช้เลนส์ของ Nikon ขนาด 70-200 2.8E FL

“Star Adventurer pro”
ภาพนี้ใช้ขาตั้งกล้องถ่ายยี่ห้อ SkyWatcher ขารุ่น Star Adventuere Pro  ซึ่งเป็นขาตั้งกล้องขนาดเล็ก พกพาสะดวกเสมือนพวกปืนกลเบา ขาตั้งกล้องพวกนี้ถ้าตั้งให้แม่นยำเพียงพอ สามารถบันทึกภาพได้นานถึงกว่า 180 วินาทีได้เลยทีเดียว หากท่านใช้ขาตั้งกล้องที่ไม่ตามดาว ปกติท่านจะเปิดหน้ากล้องได้นานไม่เกิน 30 วินาทีเท่านั้น ถ้าเปิดหน้ากล้องนานกว่านี้ภาพดาวก็จะเป็นขีดไปเลยทีเดียว

“10 x 45 secs ISO 3200”
เนื่องจากความแม่นยำของขาเป็นระดับเริ่มต้น ภาพนี้จึงถ่ายแบบเปิดหน้ากล้องเพียง 45 วินาที ต่อภาพ โดยทำการถ่ายทั้งหมด 10 ภาพ เพื่อนำมารวมกัน รวมเป็น 450 วินาที หรือ 7นาที 30 วินาที โดยตั้งค่า ISO ไว้ที่ 3200
การที่ถ่ายภาพเพื่อรวมกันหลาย ๆ ภาพ เนื่องจากแสงของดาวที่อยู่บนท้องฟ้ามีความสว่างน้อยมาก การที่เปิดหน้ากล้องนาน ๆ จะเพิ่มความสว่างของแสงดวงดาวได้ แต่เนื่องจากข้อจำกัดทั้งความแม่นยำของขา และตัว CCD ที่ใช้ในการถ่ายภาพ การถ่ายภาพเดียวนาน ๆ ต่อเนื่องไปเลยจึงเป็นไปไม่ได้
เช่น ถ้าเปิดหน้ากล้องนานเกินไป ความแม่นยำของขาที่ใช้ในการถ่ายเบื้องต้น จะทำให้ดาวมีลักษณะเป็นขีด ไม่กลม ส่วนการเปิดหน้ากล้องนานจะทำให้ CCD ของกล้องร้อน และเกิดแสงรบกวนอันเนื่องมาจากความร้อนของตัว CCD เองได้ ฯลฯ

“Bortle class 3 skies”
เป็นมาตรวัดความรบกวนจากแสงในการถ่าย โดยเริ่มต้น จากแสงรบกวนน้อยสุด 1 ไปถึงรบกวนมากสุด 8-9 ซึ่ง 3 ถือว่าอยู่ในปริมาณแสงรบกวนที่น้อย จะสังเกตเห็นว่า ส่วนของพื้นที่บนพื้นโลกที่ไม่ได้รับการรบกวนจากแสงเลยนั้นปัจจุบันหายากมาก การได้สถานที่ ที่เหมาะสมถือเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกอย่างนึงเช่นกัน

BortleScale

วิจารณ์ภาพถ่าย
เมื่อมองภาพโดยรวมจะเห็นว่าภาพนี้สวยทีเดียว สามารถเห็นภาพจานของแกแลกซี่ และเห็นแถบเมฆดำๆ ด้วย แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดเมื่อดู เม็ดดาวแต่ละดวงจะพบว่าดาวที่อยู่แต่ละมุมของภาพมีแสงกระเจิงสีฟ้า ๆ อยู่บ้าง อันเนื่องมาจากความคลาสของเลนส์ ที่ใช้

M31StarAdventurerPro-1

การแต่งภาพโดยรวมอาจให้ contrast มากไปหน่อยเลยทำให้แสงดาวตัดกับพื้นหลังสีดำสนิทกันเกินไป ดูแห้งไปนิ้ดนึง แต่โดยรวมถือว่าภาพนี้ทำได้ดีทีเดียวเมื่อเทียบกับอุปกรณ์ที่ใช้

หมวดภาพดวงจันทร์ดาวเคราะห์

ภาพโดย Carlos Alberto Palhares
Mars Occultation

“**Main Equipment: **Celestron C8 + ASI290MC + Celestron CG-5 Advanced GoTo
August 9, 2020 at 5:38 am local time, time when Mars was hidden by the Moon!
In the first photo I used the ASI290 in primary focus, F10, 1000 frames were stacked. In the second photo, I used the Canon T1i with focal reducer, F6.3 and 30 photos were stacked with 1 / 40s iso 200. The third image is a video of the exact moment of the concealment.

จากข้อความรายละเอียดนี้
“**Main Equipment: **Celestron C8 + ASI290MC + Celestron CG-5 Advanced GoTo
อุปกรณ์หลักที่ใช้ในการถ่ายภาพนี้ คือกล้องดูดาว Celestron C8 ซึ่งต่อเข้ากับขาตั้งกล้อง Celestron CG-5 Advance GoTo กล้องดูดาวนี้เป็นกล้องดูดาวที่มีชื่อเสียงเรื่องความคมชัดและประสิทธิภาพในการส่องดาวเคราะห์ซึ่งได้รับการยอมรับในหมู่นักดาราศาสตร์ และนักดาราศาสตร์สมัครเล่นทั่วโลก ขาตั้งกล้องเป็นแบบ equatorial ซึ่งสามารถติดตามดาว และค้นหาวัตถุบนท้องฟ้าได้
ส่วนกล้องที่ใช้บันทึกภาพเป็น CMOS จากค่าย ASI รุ่น ASI290MC เป็นกล้องที่ขึ้นชื่อเรื่องความไวของแสงและมี noise ที่ต่ำมาก โดยสามารถบันทึกภาพเป็นภาพสีได้ในทีเดียว

“August 9, 2020 at 5:38 am local time, time when Mars was hidden by the Moon!
In the first photo I used the ASI290MC in primary focus, F10, 1000 frames were stacked. In the second photo, I used the Canon T1i with focal reducer, F6.3 and 30 photos were stacked with 1 / 40s iso 200. The third image is a video of the exact moment of the concealment.”
ภาพนี้ถูกบันทึกในวันที่ 9 สิงหาคม 2020 เวลา 5:38 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นเวลาที่ดาวอังคารถูกพระจันทร์บดบังพอดี
ภาพนี้ประกอบขึ้นมาจาก 3 ภาพด้วยกัน โดยภาพที่ 1 ใช้กล้อง ASI290MC ถ่ายจากจุดโฟกัสของกล้องดูดาวที่ ความยาวโฟกัส F/10 หรือ 2000 มม. และนำภาพมาประมวลผลโดยรวมกันเป็นหนึ่งภาพ
ภาพที่สองใช้กล้อง Canon T1i ต่อเข้ากับ focal reducer ซึ่งทำให้ความยาวโฟกัสของกล้องจาก f/10 กลายเป็น f/6.3 และใช้ภาพ 30 ภาพ ซึ่งถ่ายที่ความเร็ว 1/40 วินาที ISO 200 มาทำการรวมกันเป็นอีก 1 ภาพ
ภาพที่สาม ใช้ภาพจาก VDO ขณะที่ดาวอังคารกำลังถูกบดบังพอดี

วิจารณ์ภาพถ่าย
ภาพนี้ใช้เทคนิคอย่างมาก เพื่อทำการบันทึกปรากฎการณ์ที่หาดูได้ยากมากอย่างหนึ่ง เนื่องจากดวงจันทร์มีความสว่างมากๆ มากกว่าดาวอังคารหลายเท่า ทำให้การถ่ายภาพไม่สามารถถ่ายได้ในภาพเดียว จึงต้องแบ่งการถ่ายภาพออกเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ คือ ภาพดาวอังคาร ภาพดวงจันทร์ และภาพขณะบดบัง ในตอนท้ายสุดจึงนำภาพมารวมกันได้พอดีทีเดียว เนื่องจากดวงจันทร์ที่ถ่ายจากกล้อง T1 มีความสว่าง จึงทำให้ขอบภาพฟุ้ง และภาพนี้ได้จากการตัดต่อทำให้ภาพขอบของดวงจันทร์คมชัดมากขึ้นแต่ยังเหลือความฟุ้งของแสงอยู่เล็กน้อยตามขอบ ซึ่งโดยรวมถือว่าเป็นภาพที่ยอมรับได้ทางด้านเทคนิคและปรากฎการณ์ ไม่ใช่การนำภาพมาทำการตัดต่อโดยไม่ยึดหลักการทางดาราศาสตร์เลย

ภาพโดย Tiziano Olivetti
Saturn

Bangkok – Thailand
DK 505 mm, Zen Optics, fl=10,500 mm
Camera PG GS3 IMX252 Astrodon RGB filter

R
2020-07-19 (yyyy-mm-dd), 16:44.1 UT
CM I 109.5 CM II 210.9 CM III 93.1
eq. diam.=18.5″ h.=54 deg.

จากข้อความรายละเอียดนี้
“Bangkok – Thailand”
ภาพนี้ถ่ายที่ กรุงเทพ, ประเทศไทย
“DK 505 mm, Zen Optics, fl=10,500 mm”
กล้องดูดาวเป็นประเภท Dall-Kirkham จาก บริษัท Zen Optics กล้องนี้มีความยาวโฟกัสที่ 10,500 มม. เทียบเท่าเอาเลนส์เทเล 500 มา ใส่ converter 10x !
“Camera PG GS3 IMX252 Astrodon RGB filter”
กล้องที่ใช้ในการบันทึกภาพ มาจากค่าย Point Grey รุ่น GS3 IMX 252 โดย IMX 252 เป็นชื่อชิพที่ของทาง Sony ผลิตขึ้น ซึ่งเป็นแบบ ขาว-ดำ โดยใช้ฟิลเตอร์ แดง เขียว น้ำเงิน จากค่าย ASTRODON

เมื่อสังเกตด้านซ้ายของรูปขาวดำที่เรียงกันแนวดิ่งจะเห็นอักษรเป็นชุดประมาณนี้
“R”
R คือฟิลเตอร์สีแดง และมีสีอื่น ๆ G = สีเขียว และ B = สีน้ำเงิน รวมถึง IR>807 ซึ่งคือฟิลเตอร์ที่กรองความยาวของช่วงคลื่นแสงในหน่วย nano meter โดยกรองเอาความยาวคลื่นแสงที่ยาวกว่า 807 nano meter ซึ่งเป็นช่วงแสง Infrared (IR) ให้สามารถบันทึกบนกล้อง CMOS ได้

“2020-07-19 (yyyy-mm-dd), 16:44.1 UT”
ภาพนี้ได้ทำการบันทึกไว้ วันที่ 19 เดือน กรกฏาคม 2020 เวลา 16:44.1 นาฬิกา ตามเวลามาตรฐานสากล ซึ่งเทียบได้เท่ากับ 21:44 น. 6 วินาที เวลาที่ประเทศไทย

“CM I 109.5 CM II 210.9 CM III 93.1”
อันนี้ค่อนข้างยากนิ้ดนึงแต่ไม่ยากเกินไปครับที่จะอธิบาย ดาวเคราะห์ในระบบสุริยจักรวาลมี 2 แบบด้วยกัน คือดาวที่เป็นของแข็งและดาวที่เป็นก๊าซ ถ้าดาวดวงที่เป็นของแข็งเช่น โลก ดาวพุธ ดาวอังคาร พื้นผิวของดาวจะหมุนไปพร้อมๆ กัน นั่นหมายความว่า ไม่ว่าจะอีกกี่ ชม. กี่วัน กี่เดือน หรือกี่ปี เมื่อเราเดินทางจากแกนขั้วเหนือของดาวลงมายังแกนขั้วไต้ ในด้านที่กำหนดไว้ตอนแรก เราก็จะเดินผ่านพื้นที่เดิมตลอดไป เช่น เราสามารถลากเส้นจากขั้วโลกเหนือผ่านรัสเซีย จีน ลาว ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนิเซียลงไปขั้วโลกใต้ ไม่ว่าจะเวลาจะเปลี่ยนไป เป็นเดือน หรือเป็นปี เส้นทางที่เดินทางลากตรงลงมานี้ก็จะตัดผ่านประเทศนี้ตลอดไป แต่สิ่งนี้กลับไม่เกิดขึ้นกับดาวเคราะห์ที่เป็นก๊าซเช่น ดาวพฤหัส หรือดาวเสาร์ ซึ่งการหมุนของพื้นผิว ขั้วเหนือของดาว ตรงศูนย์สูตรของดาว และขั้วใต้ของดาว ต่างหมุนไปไม่พร้อมกัน
ดังนั้น นักดาราศาสตร์จึงกำหนดสิ่งที่เรียกว่า Center of Meridian (CM) ขึ้นมา ตัวอย่างดาวเคราะห์ที่เป็นของแข็งทั้งหลาย ไม่ว่าโลก ดาวอังคาร จึงมี Center of Meridian แค่ค่าเดียว ในขณะที่ ดาวพฤหัส และเสาร์มีถึง 3 ค่าด้วยกัน คือส่วนขั้วเหนือ ศูนย์สูตร และขั้วใต้ จึงเป็นตัวอ้างอิงว่าภาพนี้สามารถสังเกตเห็นพื้นผิวของดาวที่เวลาต่างๆกันออกไปได้อย่างชัดเจนและไม่สับสน

“eq. diam.=18.5″ h.=54 deg.”
eq. diam. คือตรงเส้นศูนย์สูตรมีความกว้างในมุมปรากฎที่วัดได้อยู่ที่ 18.5 ฟิลิปดา (รอบตัวเรามี 360 องศา, 1 องศา มี 60 ลิปดา, และ 1 ลิปดามี 60 ฟิลิปดา) ส่วน h. การหมุนของดาวว่าเคลื่นที่ไปกี่องศาแล้วหากครบ 360 องศา ก็คือครบ 1 รอบ ใช้เวลาทั้งสิ้น 10 ชม. 42 นาที

วิจารณ์ภาพถ่าย
ภาพดาวเสาร์นี้มีความละเอียดที่สูงมากเมื่อเทียบกับหลายภาพที่ถ่ายได้บนพื้นโลก เราจะเห็นโครงสร้างของวงแหวนของดาวเสาร์ได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่ช่องว่างแคซซินี (วงสีดำที่ใหญ่ที่สุด) ไปจนถึงช่องว่างที่มีขนาดเล็กมากหรือช่องว่าง เอนเค่ ซึ่งเป็นวงสีดำบาง ๆ ที่อยู่ขอบนอกสุดของวงแหวน
ภาพนี้ทำให้เราเห็นองค์ประกอบที่แท้จริงของการสร้างภาพสีของดาวเสาร์จากกล้องถ่ายภาพที่เป็นขาวดำ เมื่อลองสังเกตภาพสีแดง จะพบว่า ขั้วเหนือของดาวเสาร์จะมีความมืดมากกว่าสีเขียวและสีน้ำเงิน ซึ่งหมายความว่าขั้วเหนือของดาวเสาร์มีแสงสีแดงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสีเขียวและน้ำเงิน ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงคลื่นแสง Infrared สามารถเห็นขั้วซึ่งมีลักษณะเป็น 6 เหลี่ยมได้อย่างชัดเจน
หลังจากนำภาพมารวมกันจึงได้ภาพที่มีความละเอียดสูงไม่แพ้ภาพจากกล้องดูดาวอวกาศฮับเบิลเลยทีเดียว

หมวดภาพวัตถุท้องฟ้า

ภาพโดย Yannick Akar
A Giant Squid in a Flying Bat

Object Sh2-129 & Outters4
Imaging telescope Celestron Rowe-Ackermann Schmidt Astrograph 8″
Imaging camera ZWO ASI 1600MM PRO
Mount iOptron CEM60
Guiding Guidescope 240mm, ZWO ASI 120MM
Filter Baader f/2 Highspeed H-Alpha, Baader f/2 Highspeed OIII, Baader f/2 Highspeed SII (each 2″), Baader R, G, B (2″)
Accessories Starizona Filter Slider, Celestron Focus Motor for SCT
Integration 54.8 hours, H-Alpha: 310×180″, OIII: 700×120″, SII: 280×180″, Red/Green/Blue each: 80×30″
Dates of recording 18 nights between July and September 2020

จากข้อความรายละเอียดนี้
“Object Sh2-129 & Outters4”
ภาพนี้เป็นภาพเนบิวล่าที่จางและมีขนาดกว้างลักษณะเหมือนปลาหมึก (O4) ซึ่งอยู่ในใจกลาง เนบิวล่า Sh2-129 ที่เหมือนค้างคาว

“Imaging telescope Celestron Rowe-Ackermann Schmidt Astrograph 8″
กล้องดูดาวที่ถ่ายภาพนี้คือ กล้องดูดาวจาก Celestron รุ่น Rowe-Akermann Schmidt Astrograph ขนาดหน้ากล้อง 8นิ้ว ซึ่งกล้องรุ่นนี้มีอัตราส่วน f/ratio 2 ทำให้ความยาวโฟกัสของกล้องนี้ยาวเพียง 2 เท่าของหน้ากล้อง หรือ 400 มม เท่านั้น หากใครเล่นกล้องถ่ายรูป DSLR เลนส์เทเลที่เราใช้กันจะมีหน้าตาเป็นกระบอกเล็กๆ ซึ่งงานนี้ผิดโผ เลนส์ขนาดถังน้ำและเอากล้องไปไว้หน้าเลนส์ด้วย

“Imaging camera ZWO ASI 1600MM PRO
กล้องที่ใช้สำหรับเก็บภาพนี้คือกล้อง CMOS จากค่าย ASI รุ่น ASI1600MM PRO ซึ่งเป็นกล้องที่มีเซ็นเซอร์ในการรับแสงแบบ CMOS ขาวดำ

“Mount iOptron CEM60”
ขาตั้งกล้องเป็นของ iOptron รุ่น CEM60 ซึ่งเป็นขาตั้งกล้องประเภท Equatorial

“Guiding Guidescope 240mm, ZWO ASI 120MM”
ภาพวัตถุท้องฟ้าส่วนใหญ่มีความสว่างน้อยดังนั้นการเปิดหน้ากล้องนาน ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าขาตั้งกล้องขนาดเล็กไปใหญ่ ผลิตมาอย่างไรก็จะมีความคลาดเคลื่อนของเฟืองภายในอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ถ้าปล่อยให้ขาตั้งกล้องทำงานเพียงอย่างเดียวภาพของดาวอาจมีการขยับได้ ทำให้ได้ความคมชัดไม่เต็มที่ ดังนั้นระบบ autoguide จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการตามดาว โดยระบบที่ใช้ของภาพนี้ใช้กล้อง guide ที่มีความยาวโฟกัส 240 มม. และใช้ CMOS ในการตามดาวรุ่น ASI120

“Filter Baader f/2 Highspeed H-Alpha, Baader f/2 Highspeed OIII, Baader f/2 Highspeed SII (each 2″), Baader R, G, B (2″)”
การถ่ายภาพจากกล้อง CMOS ขาว-ดำ ภาพที่ออกมาก็จะขาว-ดำ การทำให้ภาพเป็นสีจึงต้องใช้ฟิลเตอร์สีมาช่วยด้วย ผู้ถ่่ายภาพจะทำการบันทึกภาพที่ละฟิลเตอร์(ทีละสี) แล้วค่อยนำมารวมกันเป็น 1 ภาพ แต่เนื่องจากกล้องดูดาวนี้เป็นกล้องที่มีกรวยแสงกว้างมากที่ f/2 ดังนั้นฟิลเตอร์ที่ใช้จึงเป็นฟิลเตอร์ชนิดพิเศษที่มาจาก BAADER และใช้แสงทั้งหมด 6 สี อันได้แก่ แสงสีที่มนุษย์เรามองเห็น RGB (Red Green Blue) และฟิลเตอร์ช่วงแคบ (Narrow Band) อีก 3 ตัว H-Alpha,OIII, SII เพื่อเป็นการเร่งรายละเอียดของภาพ

“Accessories Starizona Filter Slider, Celestron Focus Motor for SCT”
อุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ คือ Starizona Filter Slider ซึ่งเป็นช่องเปลี่ยนฟิลเตอร์แบบถอดเข้าออกด้วยมือ และใช้มอเตอร์ปรับโฟกัสของทางบริษัท Celestron ในการปรับโฟกัสแทนที่การใช้มือปรับ Celestron Focus Motor for SCT

“Integration 54.8 hours, H-Alpha: 310×180″, OIII: 700×120″, SII: 280×180″, Red/Green/Blue each: 80×30″”
ข้อมูลการรวมภาพ นั้นใช้เวลาการถ่ายภาพรวมถึง 54.8 ชั่วโมง ถ่ายจากฟิลเตอร์ H-Alpha ทั้งหมด 310 รูป รูปละ 180 วินาที, ฟิลเตอร์ OIII ทั้งหมด 700 รูป รูปละ 120 วินาที, ฟิลเตอร์ SII ทั้งหมด 280 รูป รูปละ 180 วินาที , และภาพจากฟิลเตอร์ แดง เขียว น้ำเงิน อย่างละ 30 รูป รูปละ 30 วินาที

“Dates of recording 18 nights between July and September 2020”
ภาพนี้ใช้ระยะเวลาในการบันทึกทั้งหมด 18 คืน ในช่วงเดือน กรกฎาคม ถึง กันยายน 2020

วิจารณ์ภาพถ่าย
ภาพนี้ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งภาพของความสุดยอดในการสร้างสรรค์ผลงาน เป็นภาพที่ได้รางวัล Astronomy Picture Of the Day (APOD) ที่ถูกคัดเลือกโดย NASA นักดาราศาสตร์คนใด สามารถส่งภาพและได้รับรางวัลนี้ถือว่าเป็นเกียรติมาก ภาพนี้ไม่ได้สุดยอดเพราะรางวัล แต่สุดยอดเพราะรายละเอียดภาพที่มีความคมชัดสูง ดาวเป็นเม็ดกลมขอบภาพจรดขอบภาพทุกมุม ตัวริ้วที่เป็นรูปปลาหมึกสีฟ้ามีความคมชัดสูงเห็นเป็นริ้ว ๆ ของภาพได้อย่างชัดเจน ปกติภาพพวกนี้อาจยังเหลือริ้วรอยของ Noise ที่เป็นจุดๆ กระจายทั่วภาพอยู่บ้าง แต่จากที่สังเกต ไม่พบการรบกวนของ Noise อยู่เลย ยิ่งไปกว่านั้น ดาวบางดวงจะเห็นเหมือนเป็นวงแหวนจางๆ อยู่รอบ ๆ นั่นแสดงให้เห็นว่าคุณภาพของกล้องนั้นเข้าใกล้ทางทฤษฏีมากซึ่งปรากฎการณ์นี้เรียกว่า diffraction ring ซึ่งหาดูได้ยาก จะพบได้จากภาพที่ได้จากกล้องที่มีคุณภาพสูงและมีการปรับตั้งเลนส์หรือกระจก(collimation)ที่ดีเยี่ยม

เมื่อท่านได้ดูภาพต่าง ๆ จนอิ่มหนำสำราญพร้อมรับทราบรายละเอียดที่เพียงพอแล้วนั้น ท่านก็จะพอทราบถึงพื้นฐานวิธีการถ่าย และรวมถึงความยากง่ายของการถ่ายภาพนั้นๆ เท่านี้เองท่านก็พร้อมที่จะสรรค์หาอุปกรณ์มาเก็บภาพสวย ๆ เป็นของท่านเองได้ในอนาคต
สุดท้ายและท้ายสุดที่บทความไหนก็ช่วยท่านไม่ได้คือโชคและฝีมือละครับ ตั้งแต่สภาพอากาศที่ต้องนิ่งซึ่งก็ไม่ได้มีให้อยู่ทุกวัน อุปกรณ์ที่ตั้งไว้แม่นยำเพียงพอ น้ำค้าง ฯลฯ หวังว่าบทความนี้จะเป็นกำลังใจให้ท่านผู้สนใจหลงไหลในการดูและการถ่ายภาพเริ่มต้นค้นหาแนวของภาพเพื่อสรรค์หาอุปกรณ์ที่เหมาะและประหยัดที่สุดกันต่อไปครับ